ประชุมหารือปัญหาและแนวทางแก้ไข


ผลการนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อพระราชบัญญัติ

สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559

วันที่ 1 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2559

ณ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

ผลการนำเสนอ  ดังนี้

จากการที่คณะกรรมการสมาพันธ์การนวดคนตาบอดไทย ซึ่งประกอบด้วย นายเพชรัตน์ เตชวัชรา นายเสวียน งามแสง นายฉลอง สุจริตธรรม นายคำดี สาระวิทย์ นายวินัย ทองลาย นายมานพ ตะเคียนคาม นายนพดล เขมะรัตนา และ ร.อ.ชาญ สุปินะ ได้เข้าพบกับผู้ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการ สพรศ. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 ตึกปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ซึ่งผลการประชุมและปรึกษาหารือได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการนวดของคนตาบอดเป็นอย่างดี

โดยสรุปได้ดังนี้

  1. การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการของหมอนวด

1.1 หมอนวดตาบอดที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น หลักสูตรการนวดแผนไทย 1,500 ชั่วโมง หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 330 ชั่วโมง และหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย 800 ชั่วโมง สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปโดยให้นำประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่แสดงว่าได้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนั้นๆ มาเป็นหลักฐานในการยื่นขอขึ้นทะเบียนด้วยตนเองหรือมอบอำนาจบุคคลหรือสถาบันการศึกษานั้นๆไปขึ้นทะเบียนแทนก็ได้

1.2 หมอนวดตาบอดที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรจากกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่สถานศึกษาที่หมอนวดตาบอดท่านนั้นจะได้รับการรับรองหลักสูตรและรับรองสถาบัน ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะนำไปเทียบเคียงกับหลักสูตรกลางที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำหนดไว้ ถ้าเห็นว่าได้เรียนครอบคลุมในวิชาที่กำหนดไว้ก็จะให้การรับรองและสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนได้

1.3 หมอนวดตาบอดที่สำเร็จหลักสูตรจากสถาบันที่มีเนื้อหาไม่ครอบคลุมกับหลักสูตรของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะต้องเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรระยะสั้น 100ชั่วโมง เมื่อผ่านหลักสูตรแล้วจะได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนได้

  1. สถาบันที่เปิดการเรียนการสอนการนวดไทยของคนตาบอดอยู่แล้ว หากมีเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมก็สามารถยื่นขอการรับรองการเป็นสถาบันได้ และครูผู้สอนอยู่เดิมก็สามารถสอนต่อไปได้ สำหรับสถาบันที่จะขอเปิดการเรียนการสอนใหม่ต้องใช้หลักสูตรและหลักเกณฑ์ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำหนดไว้
  2. ในเรื่องสถานประกอบการนั้นผู้เป็นเจ้าของจะต้องไปยื่นขอใบอนุญาต แม้หมอนวดในร้านจะยังไม่มีใบรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยจะอนุโลมให้เปิดต่อไปได้อีก180 วัน หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้หมอนวดที่อยู่ในร้านนั้นได้ไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้การรับรอง
  3. เรื่องสถานที่ให้บริการนั้นถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กก็สามารถอนุโลมให้ใช้ห้องส้วม ห้องแต่งตัวโดยไม่แยกชาย– หญิงก็ได้
  4. เรื่องเวลาเปิด– ปิดจะอนุโลมโดยให้เปิดบริการได้ในระหว่างเวลา 06.00 น. แต่ไม่เกินเวลา 24.00 น.

ปัญหาที่คณะกรรมการสมาพันธ์การนวดคนตาบอดไทยเป็นห่วงคือ ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้นั้นอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นไปแอบอ้างและขมขู่เพื่อเรียกทรัพย์สินจากสถานประกอบการ โดยผู้ใหญ่จากกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งผู้ที่จะไปตรวจสอบสถานประกอบการนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจกระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอีกประการหนึ่งคือกฎหมายยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ ดังนั้นถ้าร้านนวดของคนตาบอดประสบปัญหาดังกล่าวขอให้ร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 02 – 1937999

ลงชื่อ คณะกรรมการสมาพันธ์การนวดคนตาบอดไทย
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Spread the love