ประวัติสมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด
๑.ประวัติความเป็นมา
สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ก่อตั้งขึ้นโดยศิษย์เก่าของโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี โดยเป็นการรวมตัวกันก่อตั้งในนาม “ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด” ซึ่งตระหนักว่าคนตาบอดเป็นผู้ด้อยโอกาส เป็นภาระของครอบครัวและสังคม แต่เมื่อได้รับโอกาสจากโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี ทำให้ได้รับการพัฒนาสมรรถภาพอย่างเหมาะสม สร้างความเข้มแข็ง มั่นคงและมีขวัญกำลังใจจนพร้อมที่จะก้าวออกไปสู่สังคมภายนอกอย่างมีศักยภาพและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การก่อตั้งองค์กรได้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยคนตาบอดกลุ่มหนึ่งที่ประกอบอาชีพจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวมีแนวคิดว่าคนพิการน่าจะมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ จึงได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลให้อย่างถาวร โดยมีตัวแทนของศิษย์เก่าที่สำคัญๆ ประกอบด้วย นายนิพนธ์ หีตพัฒน์, นายทองดี กาทอง, นายสลับ โพธิ์ตุ่น และนายนิวัฒน์ คงงามเป็นแกนนำในการเรียกร้องในครั้งนั้น รัฐบาลของ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพของคนพิการ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พิมพ์สลากฯ และจัดสรรให้กับคนพิการ โดยให้สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นตัวแทนในการรับสลากและนำไปจัดสรรให้กับคนพิการเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นายนิพนธ์ หีตพัฒน์ นายทองดี กาทองและนายประหยัด ภูหนองโอง ได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด ซึ่งรวบรวมสมาชิกศิษย์เก่าฯ ได้ประมาณ ๖๐ คน โดยวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือศิษย์เก่าฯ ที่ไม่มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ดังนั้นจึงได้มีการนัดประชุมเพื่อเลือกประธานชมรม โดยที่ประชุมได้ร่างข้อบังคับของชมรมและมีการเลือกกรรมการบริหารชมรมชุดแรก ซึ่งประกอบด้วย นายนิพนธ์ หีตพัฒน์, นายประเดิม ทับทิมเทศ, นายนิวัฒน์ คงงาม, นายทองดี กาทอง, นายประหยัด ภูหนองโอง และกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกจะต้องเสียค่าบำรุงให้กับชมรมเป็นเงิน ๓๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรีเป็นที่ทำการชั่วคราว
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการบริหารชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดได้มอบหมายให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมฯ จำนวน ๕ คน ซึ่งประกอบด้วย นายนิพนธ์ หีตพัฒน์, นายประหยัด ภูหนองโอง,นายทองดี กาทอง, นายณรงค์ชัย สุขวัฒนสถาพรและนายวินัย แซ่ลี้ ยื่นขออนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดและนายทะเบียนสมาคมประจำจังหวัดนนทบุรีได้อนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมีนายนิพนธ์ หีตพัฒน์ เป็นนายกสมาคมคนแรกขององค์กร
ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สมาคมได้จัดซื้ออาคารพร้อมที่ดิน เนื้อที่ ๓๐ ตารางวา เพื่อใช้เป็นสำนักงานที่ทำการและสมาคมฯ ได้ใช้เป็นสถานที่ติดต่อกับสมาชิก องค์กรคนพิการตลอดจนภาครัฐและภาคเอกชนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สมาคมฯ ได้จัดซื้ออาคารพร้อมที่ดินเพิ่มอีก ๑ คูหา เนื้อที่ ๓๑ ตารางวา โดยได้ปรับปรุงอาคารสำนักงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการให้บริการแก่สมาชิก องค์กรคนพิการอื่นและชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนการจัดสัมมนา การฝึกอบรมโครงการต่างๆ ให้แก่สมาชิกที่กำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยสถานที่ทำการของสมาคมตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๒๖/๔๔๐-๔๔๑ หมู่ที่ ๕ การเคหะชุมชนนนทบุรี ถนนสุขาประชาสรรค์ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งงบประมาณในการจัดซื้ออาคารพร้อมที่ดินนั้นได้มาจากเงินส่วนต่างของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สมาคมได้รับการจัดสรรจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน ๑,๒๐๐ เล่ม
ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ สมาคมฯ ได้จดทะบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อของสมาคมจาก “สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด” เป็น “สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อสถาบันการศึกษาที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด” ซึ่งการบริหารงานของสมาคมฯ ได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสมาคมฯ อยู่ในลำดับที่ ๐๑๖๑
สมาชิกของสมาคมฯ
สมาชิกของสมาคมฯ เป็นศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี หรือศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดในปัจจุบัน โดยมีนักเรียนที่เข้ารับการศึกษาในรุ่นที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) จนถึงปัจจุบันคือรุ่นที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๕๕) รวมศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้กว่า ๑,๕๐๐ คน ซึ่งได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จำนวน ๖๕๐ คน
๑.ประวัติผู้นำองค์กร
การดำเนินงานของสมาคมฯ โดยคณะกรรมการบริหารในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๕๐ นายกสมาคมฯ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ วาระ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ ๒๕๕๐ ที่ประชุมใหญ่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับโดยกำหนดให้นายกสมาคมฯ อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ วาระ ซึ่งประวัติของนายกสมาคมที่เป็นผู้นำองค์กร ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมฯ จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
๑. นายนิพนธ์ หีตพัฒน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๔
๒. นายทองดี กาทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๖
๓. นายประหยัด ภูหนองโอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘
๔. ว่าที่ร้อยตรีสุทัศน์ ศูนย์กลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๓๐
๕. นายวินัย วิทยาผลเจริญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒
๖. นายนิพนธ์ หีตพัฒน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๖
๗. จ่านายสิบตำรวจกมล นราภักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๐
๘. นายสุวิทย์ สมเพ็ชร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒
๙. นายรุ่งอรุณ สุขจิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๔
๑๐. นายธีรพล โพธิ์หวี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๘
๑๑. ร้อยเอกชาญ สุปินะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๙
๑๒. นายเสวียน งามแสง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๕
๑๓. ร้อยเอกนิตย์ชาญ สุปินะ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๕ – ปัจจุบัน
๒.การดำเนินงานและโครงสร้างของสมาคม
สมาคมฯ บริหารงานโดยคณะกรรมการซึ่งเป็นคนตาบอดอยู่ในรูปของคณะกรรมการบริหาร มีตั้งแต่ ๗ คน แต่ไม่เกิน ๑๕ คน อยู่ในวาระคราวละ ๔ ปี (หมายเหตุ : ในการก่อตั้งครั้งแรกคณะกรรมการอยู่ในวาระคราวละ ๒ ปี แต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐) นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการและที่ปรึกษา ตลอดจนเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงาน ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบสมาคมฯ โดยมีโครงสร้าง ดังนี้
๑.ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการ งานการเงินและการบัญชี งานทะเบียนสมาชิก งานปฏิคม และงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ที่ทำงานประจำ ๓ ตำแหน่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือคณะกรรมการบริหารและให้บริการกับสมาชิก
๒.ฝ่ายโครงการสลาก มีหน้าที่ดำเนินงานในการเบิกสลากจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และจ่ายให้กับสมาชิกได้นำไปจำหน่าย ตลอดจนการควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายสลากของสมาชิกให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญารับสลาก
๓.ฝ่ายส่งเสริมอาชีพและสวัสดิการ มีหน้าที่ให้การส่งเสริมความรู้ในการประกอบอาชีพและจัดทุนให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งพิจารณาและจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตลอดจนการกำกับดูแลโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาคมฯ
๔.ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง มีหน้าที่ในการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน และจัดจ้างช่างในการซ่อมแซมอาคารสถานที่
๕.ฝ่ายหารายได้ มีหน้าที่ในการจัดหางบประมาณมาสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ของสมาคมฯ
๖.ฝ่ายส่งเสริมกีฬาและสุขภาพของสมาชิก มีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมหรือรณรงค์เพื่อให้สมาชิกมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง การส่งเสริมการกีฬาและการจัดแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ
๗.ฝ่ายส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ มีหน้าที่ในการส่งเสริมศึกษาของสมาชิก ตลอดจนการจัดทำโครงการเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ในด้านต่างๆ ให้กับสมาชิก
๘.ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าและนักเรียนในศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด และจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ
๙.ที่ปรึกษาสมาคม มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำคณะกรรมการบริหารเพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
๓. การให้บริการแก่สมาชิก
สมาคมฯ เปิดทำการในวันจันทร์ – วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๗.๓๐ น. ปัจจุบันผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม คือ ร้อยเอกนิตย์ชาญ สุปินะ ได้ดำเนินงานตามข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคมฯ และได้จัดให้มีการให้บริการกับสมาชิก ดังนี้
๓.๑ การบริการด้านสวัสดิการ สมาคมฯ ได้จัดสวัสดิการซึ่งเป็นการให้เปล่าแก่สมาชิก โดยแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน คือ
๓.๑.๑ ด้านค่ารักษาพยาบาล จัดค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิกและครอบครัว รายละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาทต่อปี พร้อมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิกที่มีอายุ ตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๐๐๐ บาทต่อปี
๓.๑.๒ ด้านทุนการศึกษา จัดทุนการศึกษาให้กับสมาชิกและบุตร-ธิดา จำนวน ๕ ระดับ ดังนี้
๑) ทุนการศึกษาสายสามัญหรือเทียบเท่า
– ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ทุนละ ๒,๐๐๐ บาท
– ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ทุนละ ๓,๐๐๐ บาท
– ระดับอุดมศึกษา ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท
๒) ทุนการศึกษาสายอาชีพของคนตาบอด
– หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ทุนละ ๓,๐๐๐ บาท
– หลักสูตรแพทย์แผนไทย ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท
๓.๑.๓ ด้านการช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต
– จัดเงินช่วยเหลือกรณีสมาชิกเสียชีวิต รายละ ๗,๐๐๐ บาท
– จัดเงินช่วยเหลือกรณีพ่อแม่ ภรรยาและบุตรเสียชีวิต รายละ ๓,๐๐๐ บาท
๓.๒ บริการสลากกินแบ่งรัฐบาล
สมาคมฯ ได้รับการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นสลากประจำ จำนวน ๘๐๐ เล่ม โดยได้จัดสรรให้กับสมาชิกสมาคมฯ ซึ่งสมาชิกจะรับสลากไปจำหน่ายในราคาเล่มละ ๗,๐๔๐ บาท
๓.๓ บริการเงินกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ
สมาคมฯ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นทุนให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท โดยสมาชิกสามารถกู้ยืมได้รายละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และชำระเงินในอัตราร้อยละ ๑ สมทบเข้ากองทุนกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ ให้สมาชิกรายอื่นๆ หมุนเวียนกู้ยืมได้ต่อไป
๓.๔ บริการห้องสมุด
สมาคมฯ ได้จัดบริการห้องสมุด “คุณหญิงสมานใจ ดำรงแพทยาคุณ” ซึ่งเป็นการให้บริการหนังสืออักษรเบรลล์ และหนังสือเสียงประเภทแผ่นเดซี่ แผ่นเอ็มพี๓ และแผ่นซีดี เพื่อให้สมาชิกได้ยืมหรือทำสำเนาได้ ซึ่งหนังสือเสียงส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดของหนังสือตำราเรียน นวนิยาย และความรู้ทั่วไป